หลายท่านอาจจะเคยเห็นว่าเวลาประเทศญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติ เช่น สึนามิหรือแผ่นดินไหว คนญี่ปุ่นจะมีการใช้แผ่นป้ายชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า 安否札(anpifuda) 安否札(あんぴふだ)คือ แผ่นป้ายที่คนญี่ปุ่นใช้แขวนหรือติดตรงหน้าบ้าน เพื่อเป็นการแจ้งแก่ผู้คนหรือเจ้าหน้าที่ ว่าคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ได้หลบหนีไปยังที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งการทำแบบนี้ถือเป็นการช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำการค้นหาผู้ประสบภัยได้ง่ายขึ้นมาก เพื่อให้เด็กเยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของ anpifuda โรงเรียนมัธยมต้นในประเทศญี่ปุ่นจึงจัดกิจกรรม ให้นักเรียนได้ฝึกออกแบบและทำแผ่นป้าย anpifuda ด้วยตัวเอง คำว่า 安否札 (あんぴふだ) มาจากคำว่า 安否 (anpi) ที่แปลว่า ความปลอดภัย และ 札 (fuda) ที่แปลว่า แผ่นป้าย
ใครที่เคยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นแล้วเลือกเดินทางโดยรถไฟ อาจจะสังเกตเห็นป้ายที่มีข้อความลักษณะนี้ (マナーモード mana-mo-do) ข้อความบนป้ายนี้มีความหมายว่า “ขอความกรุณาเปิดโหมดเงียบ(โหมดสั่น) และงดการพูดคุยทางโทรศัพท์” แต่คนญี่ปุ่นจะเรียกว่า “โหมดมารยาท” แทนคำว่า “โหมดเงียบ” แล้วคำว่า マナーモード มีที่มาอย่างไร ทำไมคนญี่ปุ่นถึงได้เลือกใช้คำนี้ マナーモード เป็นหนึ่งในคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ดัดแปลงมาจากภาษาอังกฤษ เป็นคำศัพท์ที่ไม่ได้มีอยู่ในภาษาอังกฤษแต่แรก แต่เป็นคนญี่ปุ่นที่คิดขึ้นมาเอง การที่เรียก “โหมดเงียบ” ว่า “โหมดมารยาท” เพราะคนญี่ปุ่นมองว่า การปิดเสียงโทรศัพท์ถือเป็นการไม่รบกวนผู้คนรอบข้าง และเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ซึ่งก็ถือเป็นมารยาททางสังคมอย่างหนึ่ง