ความหมายที่มาของสำนวน 一か八か ทำไมต้อง 1 กับ 8?

ความหมายที่มาของสำนวน 一か八か ทำไมต้อง 1 กับ 8? เป็นอย่างไรนั้นไปดูกันเลย

一か八か (いちかばちか : ichika bachika) ในพจนานุกรม แปลว่า หมู่หรือจ่า, หัวหรือก้อย หรืออย่างที่เราเข้าใจกันว่าหมายถึงการวัดดวง ลองเสี่ยงดวง จริง ๆ แล้วคำนี้ใช้กันในหลากหลายรูปแบบเหมือนภาษาไทย ไม่ว่าจะเรื่องงาน การสอบ หรือการพนัน สำหรับภาษาไทย ส่วนใหญ่คงจะเข้าใจกันอยู่แล้วใช่ไหมคะว่าทำไมถึงใช้คำว่าหมู่กับจ่า หัวกับก้อย แต่ในภาษาญี่ปุ่น หากแปลตรงตัวจะแปลว่า หนึ่งหรือแปด แล้วทำไมในภาษาญี่ปุ่นถึงใช้เลข 1 กับเลข 8 ไปเรียนรู้ถึงความหมายและที่มาของสำนวนนี้กันค่ะ

อันดับแรก มาดูที่ความหมายกันค่ะ 一か八か เป็นสำนวนที่หมายถึงการฝากผลลัพธ์ไว้กับโชคชะตาว่าจะออกมาเป็นแบบใด ส่วนใหญ่จะใช้เมื่อยังไม่ทราบผลของสิ่งที่กำลังจะทำ เหมือนกับในภาษาไทยเลยค่ะ

สำหรับที่มาของสำนวนนี้ มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามาจากการเล่นพนันพื้นบ้านของญี่ปุ่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า 丁半 (ちょうはん : Jouhan) คำว่า 丁 (ちょう : Jou) หมายถึงเลขคู่ ส่วน 半 (はん : han) หมายถึงเลขคี่ วิธีการเล่นคือใช้ลูกเต๋า 2 ลูกใส่เข้าไปในถ้วย แล้วให้ผู้พนันทายว่าเลขหน้าลูกเต๋าทั้ง 2 ลูกรวมกันแล้วได้จำนวนเลขคู่หรือเลขคี่ หรือก็คือพนันว่าได้ Jou หรือได้ Han

จากคันจิตัว 丁 มีการดึงส่วนบนของคันจิออกมาเป็นตัว 一 (เลข 1) และจากคันจิตัว 半 ก็มีการดึงส่วนบนของคันจิออกมาเป็นตัว 八 (เลข 😎 จึงกลายเป็นเลข 1 กับเลข 8 นั่นเอง ในสำนวน 一か八か ที่แปลตรงตัวว่า หนึ่งหรือแปด จึงมีความหมายว่า ฝากไว้กับดวงชะตาว่าลูกเต๋าจะออกมาเป็นเลขคู่หรือเลขคี่ เปรียบเหมือนกับเรื่องที่เรายังไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบใดจึงฝากไว้กับเบื้องบน

แต่มีอีกทฤษฎีกล่าวว่าคำดั้งเดิม คือ 一か罰か ซึ่งเป็นสำนวนที่ใช้ในวงการการพนัน แปลตรงตัวได้ว่า หนึ่งหรือโทษ หมายความว่าการทายเลขหน้าลูกเต๋านั้นจะได้หรือพลาด ต่อมาก็ได้เพี้ยนกลายเป็นคำว่า 一か八か ซึ่งมีคำอ่านเหมือนกัน

มาดูคำที่มีความหมายคล้ายกับสำนวน 一か八か กันค่ะ ในที่นี้ได้ยกมา 3 สำนวนคือ 伸るか反る, 乾坤一擲 และ 清水の舞台から飛び降りる

伸るか反るか (のるかそるか : noruka soruka)
แปลตรงตัวได้ว่า จะยืดออกหรือจะบิดงอ เป็นสำนวนที่แสดงถึงความกระตือรือร้นที่จะลองเสี่ยงโชคถึงแม้จะไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม แต่คำนี้จะไม่ใช้ในกรณีที่มีผลลัพธ์ที่แน่นอน จะใช้เมื่อลองทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่ยังไม่ทราบผลลัพธ์

乾坤一擲 (けんこんいってき : kenkon itteki)
แปลตรงตัวได้ว่า เดิมพันทั้งฟ้าดิน เป็นสำนวนที่หมายถึงการแข่งขันโดยการเดิมพันด้วยโชคชะตา ว่ากันว่ามาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับจักรพรรดิเกาจู่ ปฐมจักรพรรดิของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ได้ไปออกศึกหลังจากได้รับคำแนะนำจากข้าราชบริพารให้เตรียมต่อสู้กับฌ้อปาอ๋อง ตัว 乾 (けん : ken) สื่อถึงสวรรค์ ตัว 坤(こん : kon) สื่อถึงโลก และ 一擲 (いってき : itteki) หมายถึงการขว้างครั้งเดียว การละทิ้ง หรือการเสียสละ บ่งบอกถึงสภาพที่เดิมพันทุกสิ่งเพื่อท้าประลองกับคู่ต่อสู้โดยไม่รู้ว่าจะชนะหรือไม่ เป็นคำที่ถูกใช้สื่อถึงการแข่งขันครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต

清水の舞台から飛び降りる (きよみずのぶたいからとびおりる : kiyomizu no butai kara tobioriru)
แปลตรงตัวได้ว่า กระโดดลงมาจากระเบียงวัดคิโยมิสึ หมายถึงการตัดสินใจเด็ดขาดโดยไม่ลังเล บ่งบอกถึงการเตรียมใจหรือทำใจยอมรับประหนึ่งว่าได้กระโดดลงมาจากระเบียงวัดคิโยมิสึ ใครที่เคยไปแล้วน่าจะเข้าใจใช่ไหมคะว่าจากระเบียงถึงพื้นนั้นสูงมากเลยทีเดียว ซึ่งในอดีตจนถึงสมัยเมจิ ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่กระโดดลงมาจากระเบียงวัดคิโยมิสึจริง ๆ !

มีคำพ้องความหมายไปแล้วก็มาดูคำตรงข้ามกันค่ะ คำตรงข้ามของสำนวนนี้ก็ต้องเป็นคำที่แสดงความระมัดระวัง รอบคอบ ตัวอย่างเช่น 堅実 หรือ 石橋を叩いて渡る

堅実 (けんじつ : kenjitsu)
แปลว่า หนักแน่น มั่นคง หมายถึงวิธีการหรือการกระทำที่ทำไว้อย่างดีและไม่เป็นอันตราย เมื่อเทียบกับสำนวน 一か八か ที่ปล่อยให้เป็นเรื่องของโชค คำนี้จะแสดงถึงการกระทำและความคิดอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงมากกว่า

石橋を叩いて渡る (いしばしをたたいてわたる : ishibashi wo tataite wataru)
แปลตรงตัวได้ว่า ทุบสะพานหินแล้วจึงข้าม เป็นสำนวนที่สื่อถึงความรอบคอบ ว่าถึงแม้จะเป็นสะพานหินที่ดูแข็งแรง ก็ต้องลองทุบดูอีกครั้งว่าปลอดภัยพอที่จะข้ามไปได้หรือไม่ ใช้ในการเปรียบเทียบกับการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *