รู้ไว้ใช่ว่า ภาษาญี่ปุ่น 6 คำ ที่ผู้ชายญี่ปุ่นใช้เรียนภรรยา เวลาคุยกับคนอื่น

      Comments Off on รู้ไว้ใช่ว่า ภาษาญี่ปุ่น 6 คำ ที่ผู้ชายญี่ปุ่นใช้เรียนภรรยา เวลาคุยกับคนอื่น

รู้ไว้ใช่ว่า ภาษาญี่ปุ่น 6 คำ ที่ผู้ชายญี่ปุ่นใช้เรียนภรรยา เวลาคุยกับคนอื่น มีคำว่าอะไรบ้างไปดูกันเลย

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้ชาย (อะแฮ่ม) ท่านเคยสังเกตไหมครับว่าเวลาที่ท่านพูดถึงคู่ครอง พูดถึงคนที่บ้านของท่านให้คนอื่นฟัง ท่านใช้คำนามเรียกขานคู่ครองของท่านว่าอะไร? สำหรับคนไทย เรามีคำอยู่หลักๆ สามคำสามระดับ “เมีย” เป็นคำไทย ที่ฟังดูบ้านๆ แต่บางครั้งด้วยความที่คำนี้ถูกใช้สื่อความหมายในทางหยาบโลน (เกี่ยวกับเซ็กซ์ เพศสัมพันธ์) ชายไทยหลายคนจึงหันมาใช้คำยืมภาษาอังกฤษคือคำว่า “แฟน” เพื่อสื่อความแบบเป็นคำกลางๆ คือไม่หยาบหรือดูชาวบ้านมากไป และไม่ฟังเป็นทางการมากเกินไปเหมือนคำว่า “ภรรยา” ซึ่งจริงๆ แล้วมาจากภาษาสันสกฤตว่า ภารฺยา (ซึ่งเมื่อบิดเสียงไปตามสำเนียงภาษาบาลีว่า “ภริยา” จะกลายเป็นคำยกย่องหมายถึงภรรยาของคนใหญ่คนโตหรือคนที่ต้องให้ความเคารพไปเสีย ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ภรรยา ก็ดี ภริยา ก็ดี ล้วนเป็นคำเดียวกัน เพียงแต่ต่างสำเนียงภาษาเท่านั้นเอง)

แต่ผู้ชายญี่ปุ่นสมัยนี้ มีคำนามเรียกขาน “คู่ครอง” ให้ใช้ตั้ง 6 คำแน่ะครับ! แต่ก็นะครับ เช่นเดียวกับภาษาไทย คำต่างๆ มันก็มีความหมาย (ทั้งในทางคำศัพท์และในทางสังคม) ต่างๆ กันไป มาดูกันเลยดีกว่าครับ 

คำนี้ถือว่าเป็นคำสามัญที่สุดที่สามีใช้เรียกภรรยาของตัวเอง ซึ่งถูกใช้มานานแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีระบบการจดทะเบียนสมรส โดยช่วงก่อนสมัยเมจิ ส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ไซ” แต่ใช้คันจิตัวเดียวกัน หลังจากนั้นเปลี่ยนมาเรียกว่า “ทสึมะ” แทน จึงถือได้ว่าคำเรียกนี้มีมาไม่นานนัก 

ว่ากันว่าคำนี้มีที่มาแต่ยุคคามาคุระ ซึ่งสันนิษฐานว่ากร่อนมาจากคำว่า 良い女 โยอิเมะ “สาวที่ดี” ใช้เป็นคำกล่าวของพ่อผัวแม่ผัวเวลาแต่งสะใภ้เข้าบ้าน พูดง่ายๆ คือ มันเป็นคำเรียก “ลูกสะใภ้” (น่าสนใจว่า คำว่า “สะใภ้” นั้น จริงๆ กร่อนมาจาก “สาวใภ้” ว่า “ใภ้” นี่มีความหมายว่าอย่างไรผู้เขียนยังหาข้อมูลไม่ได้) หลังๆ กลายเป็นว่าไพล่ไปเป็นคำที่ผัวใช้เรียกเมียตัวเองเฉยเลย 

คำนี้จริงๆ หมายถึง “สาวใช้” เป็นคำโบราณที่มาจากการที่ว่ายุคเฮอันนั้น พวกคนชั้นสูงจะต้องมีหญิงคอยปรนนิบัติพัดวีเรื่องการกินการอยู่ อยู่ในชายคาคฤหาสน์ของตน (ซึ่งหญิงพวกนี้ก็จะมีเรือนสาวใช้อยู่ต่างหาก ซึ่งก็เรียกเรือนสาวใช้ว่า เนียวโบ 女房 ไปๆ มาๆ คำนี้เอามาใช้เรียกหมายถึงตัวสาวใช้เสียอย่างนั้น) ไม่ทราบว่าสมัยก่อนเขามีการเอาสาวใช้ทำเมียด้วยหรือไร เลยกลายมาเป็นคำใช้เรียกหมายถึงเมียไปเสียอย่างนั้น 

คำนี้มาจากยุคมุโรมาจิ กลายมาจากคำว่า โอคุคาตะ 奥方 แปลว่า “ผู้ที่อยู่ในห้องด้านใน” สมัยนั้นคนมียศฐาบรรดาศักดิ์ที่เป็นเจ้าของคฤหาสน์มักจะให้คู่ครองของตัวเองอยู่ห้องด้านใน (ฟังแล้วชวนนึกถึงคำว่า “นางใน” พิกล) เวลาที่ใครจะกล่าวถึงคู่ครองของท่านผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์นั้น ก็จะแสดงความเคารพด้วยการเรียกอ้อมๆ ว่า “(ท่าน) ผู้อยู่ห้องด้านใน” แต่คนสมัยนี้ถูกนำมาใช้เรียกเมียตัวเองเวลาพูดถึงเมียตัวเองให้คนอื่นฟังซึ่งจริงๆ แล้วไม่ถูกต้องตามหลัก แต่ก็มีหลายๆ คนที่ใช้กัน จนกลายเป็นว่าไม่แปลกไปแล้ว (คงเพราะมันฟังดูเป็นคำยกย่อง คือให้เกียรติ แล้วสังคมสมัยใหม่ผู้ชายญี่ปุ่นก็อาจรู้สึกว่าต้องเรียกเมียแบบให้เกียรติเวลาอยู่ต่อหน้าคนอื่น โดยเฉพาะเวลาที่ภรรยาตัวเองยืนอยู่ตรงนั้นด้วยสิ 555) คำนี้ถ้าจะเอาสุภาพขั้นกว่าก็จะเป็น โอคุซามะ 奥様 “ภริยา” แต่คำนี้จะใช้เรียกภรรยาคนอื่น ไม่ใช่เรียกภรรยาตัวเองนะ 

คำนี้เป็นคำที่เกิดในยุคเมจิ ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตที่สมัยนั้นผู้ชายออกไปทำงานข้างนอกบ้าน คือไปทำงานบริษัท ผู้หญิงก็อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเป็นแม่บ้านแม่เรือน ก็เลยใช้คำว่า คะไน ที่แปลว่า “(คน) ในบ้าน” แต่สมัยนี้ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนกับผู้ชาย ฉะนั้นจะเรียกเมียว่า “คนที่บ้าน” หรือ “แม่บ้าน” ฟังดูน่าจะไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์ทุกวันนี้เท่าไหร่ (กระมัง) 

คำว่า คามิ นั้น จะเขียนเป็นตัวคันจิว่า 上 หมายถึง “อยู่บน อยู่สูง” (เรียกเต็มๆ ว่า คามิซามะ 上様 ท่านที่อยู่สูง) ก็ได้ ก็เข้าใจครับสมัยนี้ ผู้ชายบางคนรักเมียตัวเองมากจนอยากจะแสดงความรักด้วยการยกย่อง ยกให้เหนือกว่าตัวเอง (คือต้องทูนไว้เหนือหัวเลย) เป็นการแสดงความรักใคร่ด้วยการยกย่อง ว่าแต่สมัยนี้ยังมีใครเรียกเมียว่า “ทูนหัว” กันไหมเนี่ย? ผู้เขียนว่า สมัยนี้กระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมกันมีมากขึ้น คำนี้อาจจะล้าสมัยไปแล้วก็ได้ คนที่ถูกเรียกอาจจะรู้สึกแปลกๆ อีกด้วย (ฮา)

แล้วท่านผู้อ่านที่เป็นชายไทย ปกติเรียกคู่ครอง (แฟน ภรรยา เมีย) ให้คนอื่นฟัง ใช้คำว่าอะไรครับ? แล้วท่านผู้อ่านที่เป็นคนไทยพูดญี่ปุ่น เวลาพูดถึงคู่ครอง (แฟน ภรรยา เมีย) ให้คนญี่ปุ่นฟัง ใช้คำว่าอะไรครับ? ผู้เขียนใช้คำว่า โอคุซัง 奥さん ครับ ถึงมันอาจจะ “ไม่ถูกต้อง” ตามมารยาท(เพราะปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะไม่เรียกบุคคลที่อยู่ฝั่งเดียวกับตน เช่น คนในครอบครัว หรือคนในบริษัทเดียวกัน โดยมีคำว่า ซัง ต่อท้าย) แต่สมัยนี้ หากเราใช้คำสุภาพยกย่องกับภรรยาคนอื่นได้ เราก็ต้องใช้คำเดียวกันนั้นกับภรรยาตัวเองเช่นกันครับ (คือความคิดเรื่องความสุภาพอย่างฝรั่งตะวันตก ถ้าจะยกย่องใครก็ต้องยกย่องหรือสุภาพกับทุกคนเสมอกัน ไม่ได้แบ่งว่า ต้องยกคนอื่นขึ้น แล้วถ่อมตัวเองลง อย่างญี่ปุ่นนะครับ และยุคนี้ ถึงจะเป็นคนญี่ปุ่น อิทธิพลความคิดอย่างตะวันตกมันก็เข้าไปเหมือนกัน ตามโลกาภิวัฒน์ครับ) วันนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ก่อน พบกันใหม่คราวหน้า สวัสดีครับ