รู้จักกับคุราตะกับการเล่นดั้งเดิมของญี่ปุ่น

รู้จักกับคุราตะกับการเล่นดั้งเดิมของญี่ปุ่น เป็นอย่างไรนั้นไปดูกันเลย

ถ้าพูดถึงการละเล่นดั้งเดิมเพื่อน ๆ นึกถึงอะไรกันบ้างคะ โดดยาง หมากเก็บ เป่ากบ อยากบอกว่าที่ญี่ปุ่นเขาก็มีการละเล่นดั้งเดิมเหมือนกันนะคะ วันนี้เราจะพาไปรู้จักการละเล่นดั้งเดิมของญี่ปุ่นชนิดหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังคงเล่นกันแพร่หลายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น หรือผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีการแข่งขันระดับประเทศอีกด้วย การละเล่นที่ว่าก็คือ “คารุตะ” (かるた) เราไปรู้จักที่มาและวิธีการเล่นคารุตะคร่าวๆกัน

คารุตะที่คนญี่ปุ่นนิยมเล่นกันในปัจจุบันเรียกว่า “เฮียะคุนินอิชชุ คารุตะ” ซึ่งเฮียะคุนินอิชชุคือหนังสือที่รวบรวมบทกลอน 100 บทจากกวีผู้โด่งดัง 100 คนในช่วงสมัยอะซึกะถึงต้นสมัยคามาคุระ โดยกลอน 1 บทจะแบ่งออกเป็น 2 วรรคด้วยกัน ได้แก่ วรรคบน หรือ คามิโนะคุ (上の句) และวรรคล่าง หรือ ชิโมะโนะคุ (下の句) ส่วนคำว่า คารุตะ นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาโปรตุเกส แปลว่ากระดาษสี่เหลี่ยม หรือไพ่ในปัจจุบันนั่นเอง

ในการเล่นคารุตะ จะมีไพ่ 100 ใบ แต่ละใบเขียนบทกลอนเฮียะคุนินอิชชุไว้หนึ่งบท ในกรณีที่มีผู้เล่น 2 คน ก่อนอื่นให้คว่ำไพ่ทั้งหมด แล้วเอามากองตรงกลาง ผู้เล่นแต่ละคนจะเลือกไพ่คนละ 25 ใบ เปิดไพ่และเรียงเป็นสามแถวตรงหน้าตัวเอง จากนั้นจะมีเวลา 15 นาทีในการจำว่าไพ่ใบไหนอยู่ตรงไหนทั้งในพื้นที่ของตัวเองและของฝ่ายตรงข้าม ต่อจากนั้น ผู้อ่านกลอนจะอ่านกลอนวรรคบน ใครที่สามารถเตะไพ่ใบที่มีกลอนบทนั้นเขียนไว้อยู่ได้ก่อน จะได้ไพ่ใบนั้นไปเก็บไว้กับตัว และยังยกไพ่ใบไหนก็ได้ในฝั่งตนเองให้อีกฝ่ายได้ด้วย ใครที่ไพ่ในพื้นที่ตัวเองหมดก่อนถือว่าชนะ 

จุดกำเนิดของคารุตะเริ่มในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ตอนที่ญี่ปุ่นและโปรตุเกสเริ่มคบค้าสมาคมกัน ญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมการเล่นไพ่มาจากโปรตุเกสและแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่น แต่ไพ่ในสมัยนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพนันด้วย ในสมัยเอโดะไพ่จึงกลายเป็นสิ่งของต้องห้าม ถูกเผาและถูกทำลายทิ้งไปมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน การรวมตัวกันของการละเล่นดั้งเดิมของญี่ปุ่นอย่างการจับคู่ บทกลอนโบราณ และไพ่ทำให้เกิดการละเล่นคารุตะในแบบฉบับบทกลอนขึ้น ในช่วงแรกไม่ได้มีแค่ เฮียะคุนินอิชชุ คารุตะ เท่านั้น แต่ยังมีคารุตะที่ใช้บทกลอนจากบทประพันธ์อื่นอย่างเกนจิโมโนกาตาริและอิเสะโมโนกาตาริด้วย 

Chihayafuru หรือ จิฮายะ กลอนรักพิชิตใจเธอ เป็นมังงะที่หยิบเอาคารุตะขึ้นมาเป็นหัวข้อหลัก โดยตัวเอกของเรื่องคือจิฮายะ นักเรียนมัธยมปลายหญิงที่มุ่งมั่นฝึกฝนคารุตะและแข่งขันเรื่อยไปเพื่อคว้าตำแหน่งควีน มังงะเรื่องนี้กลายเป็นที่โด่งดังจนถูกสร้างเป็นอนิเมะ และยังกลายเป็นภาพยนตร์แบบคนแสดงถึง 3 ภาคด้วยกัน ไม่ว่าจะดูในรูปแบบมังงะ อนิเมะ หรือภาพยนตร์ ก็สามารถรู้สึกถึงความมุ่งมั่นของตัวละครและความตื่นเต้นของการแข่งขันได้เป็นอย่างดี ถ้าใครอยากรู้จักคารุตะมากขึ้นก็ลองไปหาดูกันได้น้า 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *