รู้จักดวงดาว 2 ดวงซึ่งเกี่ยวข้องกับเทศกาลทานาบาตะ

รู้จักดวงดาว 2 ดวงซึ่งเกี่ยวข้องกับเทศกาลทานาบาตะ มีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย

ทุกวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดของทุกปี (ปัจจุบันคือวันที่ 7 เดือนกรกฎาคม) ในญี่ปุ่นจะมีเทศกาลชื่อว่า ทานาบาตะ (七夕) หรือเทศกาลแห่งดวงดาว ซึ่งในวันนี้จะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น เขียนคำอธิฐานแล้วนำไปผูกไว้กับกิ่งไผ่ที่จัดไว้ตามสถานที่ต่างๆ การรับประทานโซเม็ง และการไปเที่ยวงานเทศกาลทานาบาตะ เป็นต้น มารู้ตำนานของเทศกาลทานาบาตะและดวงดาวที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้กัน

ทานาบาตะเป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนโดยมีตำนานความเชื่อว่าดาวสองดวง ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าหญิงนักทอผ้าธิดาของเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า คือ โอริฮิเมะ (Orihime) และชายเลี้ยงวัว คือ ฮิโกโบชิ (Hikoboshi) ได้พบรักและแต่งงานอยู่กินกันอย่างมีความสุขจนลืมทำหน้าที่ของตน เจ้าหญิงละเลยหน้าที่ไม่ทอผ้าให้ผู้เป็นบิดา ส่วนฮิโกโบชิก็ไม่ยอมไปเลี้ยงวัว ทำให้วัวเดินเพ่นพ่านไปทั่ว สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนบนแดนสวรรค์ เมื่อเทพเจ้าแห่งท้องฟ้ารู้เข้าก็โกรธมากและสั่งทำโทษทั้งคู่ให้พรากจากกันตลอดกาลโดยมีแม่น้ำสวรรค์หรือทางช้างเผือกกั้นขวางทั้งคู่ไว้ อย่างไรก็ดี ด้วยความสงสารธิดา เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าทรงอนุญาตให้ทั้งคู่มาพบกันได้เพียงปีละ 1 ครั้ง คือ ค่ำคืนของวันที่เจ็ดเดือนเจ็ด ที่ทั้งคู่ต้องเดินทางข้ามแม่น้ำแห่งสวรรค์ที่ชื่ออามาโนะกาวาเพื่อมาพบกัน ทุกปีฝูงนกกางเขนอาสาใช้ปีกเป็นสะพานให้เจ้าหญิงเดินข้ามไปพบคนรัก หากปีไหนที่ฝนตกฝูงนกกางเขนไม่สามารถมาพาเจ้าหญิงข้ามแม่น้ำแห่งสวรรค์ได้ ทั้งคู่ก็จะต้องรออีกปีเพื่อพบกัน

วันนี้จึงเป็นวันที่คนญี่ปุ่นอธิษฐานขอให้อากาศดีเพื่อให้ดาวทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันอย่างสมหวังตามที่รอคอย เมื่อขอพรให้เจ้าหญิงและชายคนรักแล้ว คนญี่ปุ่นก็ถือโอกาสขอพรให้ตัวเองและครอบครัวสมหวังในเรื่องต่างๆ ไปด้วย

ดาวบนท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้ได้แก่

ดาวเวกา (Vega, ベガ) ตัวแทนของเจ้าหญิงโอริฮิเมะ เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างสุกใสเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มดาวพิณและสว่างเป็นอันดับ 4 บนท้องฟ้า ดาวดวงนี้เคยเป็นดาวเหนือของโลกเมื่อ 12,000 ปี ก่อนคริสตกาล และจะกลับมาเป็นดาวเหนือของโลกอีกครั้งในปี ค.ศ 13,727

ดาวอัลแตร์ (Altair, アルタイル) ตัวแทนของฮิโกโบชิ เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างสุกใสเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มดาวนกอินทรีย์และสว่างเป็นอันดับที่ 11 ในท้องฟ้า

อามาโนะกาวาหรือแม่น้ำสวรรค์ก็คือทางช้างเผือกนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีดาวอีกดวงที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้ แต่จะเป็นดวงดาวที่ทำให้เกิดสามเหลี่ยมแห่งฤดูร้อน คือ ดาวเดเนบ (Deneb, デネブ) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างสุกใสเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มดาวหงส์ และสว่างเป็นอันดับที่ 19 บนท้องฟ้า ในฤดูร้อนดาวฤกษ์ทั้งสามจะเรียงตัวกันเป็นสามเหลี่ยมคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่วโดยมีดาวอัลแตร์เป็นยอดของสามเหลี่ยม และมีดาวเดเนบกับดาวเวกาเป็นฐานของสามเหลี่ยม อีกทั้งยังสามารถเห็นทางช้างเผือกได้ในบริเวณที่ใกล้กับดวงดาวทั้งสามด้วย

ในหนึ่งปีจะมองเห็นดวงดาวทั้ง 3 ดวงได้อย่างชัดเจนในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม ทิศทางและเวลาที่สามารถมองเห็นดวงดาวทั้ง 3 ดวงได้อย่างชัดเจนในวันที่ไม่มีฝนและเมฆคือ ทิศตะวันออก เวลาหลัง 3 ทุ่ม เป็นต้นไป

วันที่เจ็ดเดือนเจ็ดของทุกปีเป็นคืนที่ดาวเวกาตัวแทนของเจ้าหญิงโอริฮิเมะและดาวอัลแตร์ตัวแทนของฮิโกโบชิโคจรมาใกล้กันมากที่สุด คนญี่ปุ่นจึงจัดเฉลิมฉลองให้มีเทศกาลทานาบาตะ ที่มีการประดับแสงไฟจากโคมและตะเกียงตามถนน แม่น้ำ ลำคลอง ทำให้สว่างไสวไปทั่ว ในงานเทศกาลก็จะมีการขายของและการเล่นเกมหลากหลาย คนญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวชื่นชอบการไปเที่ยวเทศกาลนี้เป็นอย่างมาก

แม้ว่าปีนี้อาจจะเป็นอีกปีที่งดการจัดเทศกาลทานาบาตะเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หากเพื่อนๆ สนใสเรื่องดวงดาวก็ลองส่องหาดาวฤกษ์สว่างสุกใสที่ทำมุมสามเหลี่ยมในช่วงหน้าร้อนดูนะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *