3 สิ่งที่แตกต่างระหว่างพระไทยกับพระญี่ปุ่น

3 สิ่งที่แตกต่างระหว่างพระไทยกับพระญี่ปุ่น มีอะไรบ้างไปดูกันเลย

เนื่องจากต่างนิกายกัน หลักคำสอนหรือการปฏิบัติตนก็ย่อมต้องมีข้อที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน อย่างพระสงฆ์ของไทยกับพระสงฆ์ญี่ปุ่นนั้นถ้านอกจากเรื่องการแต่งกายแล้ว หลักปฏิบัติบางข้อยังแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงอีกด้วย เนื้อหาบทความที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะช่วยให้ทุกคนได้เห็นภาพมากขึ้นด้วย โดยแบ่งเป็น 3 เรื่องหลักๆ ได้ดังนี้

เมื่อครั้งหนึ่งผู้เขียนได้เคยดูจากเอนิเมะและเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเรียกพระสงฆ์ว่าพ่อ ตอนนั้นก็นึกว่าเป็นสรรพนามเรียกทั่วไปเหมือนกับวิธีเรียกบาทหลวงของศาสนาคริสต์เสียอีกค่ะ (^-^”) พอดูไปดูมาถึงรู้ว่าพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นเขาแต่งงานมีลูกและสามารถใช้ชีวิตอยู่บ้านเดียวกันกับครอบครัวได้! ต่างจากพระสงฆ์ไทยที่ไม่เพียงแค่แต่งงานไม่ได้ แต่การถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงนั้นยังถือเป็นเรื่องต้องห้าม

ตอนเรียนมัธยมปลายผู้เขียนเคยพาคุณครูหนุ่มญี่ปุ่นขี้สงสัยคนหนึ่งไปเที่ยว เมื่อพาขึ้นรถไฟใต้ดิน เขาก็เอะใจกับป้าย Priority Seat หรือที่นั่งพิเศษ ซึ่งเขาสงสัยมากๆ ว่าทำไมต้องจัดที่นั่งให้พระสงฆ์ด้วยล่ะ??

เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ แต่มีวัตถุประสงค์อื่นแฝงอยู่ด้วยหรือเปล่านะ..? แน่นอนว่าผู้หญิงไทยก็แทบจะไม่เข้าใกล้ที่นั่งพิเศษตรงนั้นเลย ซึ่งก็ช่วยกำหนดระยะห่างระหว่างพระสงฆ์กับผู้หญิงได้ด้วย ดังนั้นอีกวัตถุประสงค์ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงถูกตัวพระสงฆ์โดยไม่ได้ตั้งใจในพื้นที่แออัดอย่างบนรถไฟนั่นเองค่ะ

ย้อนไปในสมัยคามาคุระ มีพระรูปหนึ่งชื่อว่าชินรัน (ค.ศ. 1173-262) ผู้ก่อตั้งนิกายขึ้นใหม่ในชื่อ “นิกายโจโดะ” ซึ่งหลักคำสอนคือ เพียงเชื่อในพระอามิตาพุทธก็สามารถขึ้นสวรรค์ได้ และเนื่องจากพระชินรันผู้ก่อตั้งนิกายใหม่ได้แต่งงาน ดังนั้นในนิกายโจโดะจึงยอมรับเรื่องการแต่งงานมาตั้งแต่ในสมัยก่อนแล้วค่ะ

พระชินรันได้ใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ใช่พระสงฆ์เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่ฆราวาสเช่นกัน ซึ่งว่ากันว่าพระชินรันมีบุตรถึง 7 คนเลยด้วยค่ะ

พระชินรันมีความคิดที่ว่า “หากมีความศรัทธาและอุทิศตัวตนทั้งหมดให้แก่พระอามิตาพุทธก็จะสามารถไปสู่สวรรค์ได้ หากปฏิบัติความดีด้วยตัวเองหรือด้วยการปฏิบัติธรรมก็ตาม ถือว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นข้อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีความเชื่อในพระอามิตาพุทธค่ะ ดังนั้นพระชินรันจึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องการถือศีลด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ในพุทธศาสนาของญี่ปุ่นเลยทีเดียวล่ะ” (Akira Ikegami นักข่าวและนักเขียนชาวญี่ปุ่นคิดว่า ถ้าเช่นนั้นพุทธศาสนาคืออะไรกัน? สำนักพิมพ์ Asukashinsha)

ด้วยเหตุนี้เอง ช่วงสมัยเอโดะจึงเพียงพระของนิกายโจโดะเท่านั้นที่สามารถแต่งงานได้ ส่วนการที่พระทุกรูปทั่วประเทศญี่ปุ่นสามารถแต่งงานได้นั้นเพิ่งเริ่มในสมัยเมจิค่ะ

ทางรัฐบาลเมจิยอมรับการแต่งงานของพระสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์ญี่ปุ่นสามารถแต่งงานได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่ะ แต่หากเป็นนอกประเทศญี่ปุ่นแล้วเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ในสังคมสมัยใหม่นี้ รัฐบาลกับศาสนาจะแยกตัวออกจากกันชัดเจน และเราเองก็ไม่เคยได้ยินข่าวว่ารัฐบาลมีอำนาจตัดสินในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาได้ด้วย… แต่ว่าที่ญี่ปุ่นทำได้ค่ะ

หากเป็นรัฐบาลไทย เรื่องที่จะอนุญาตให้พระสงฆ์แต่งงานได้นั้นก็ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย และรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินหลักศาสนาด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้เป็นอีกหนึ่งความต่างของไทยและญี่ปุ่นในเรื่องระยะห่างระหว่างศาสนาและรัฐบาล

ข้อนี้หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบกัน แต่ว่าพระสงฆ์ญี่ปุ่นมีเงินเดือนปกติเหมือนกับพนักงานบริษัทเลยล่ะค่ะ

ระบบเงินเดือนของพระสงฆ์จะเป็น “ตัดวันที่ 20 และจ่ายเงินเดือนให้ในวันที่ 35”(ข้อมูลจากหนังสือ Bouzumarumoukei no Karakuri)

ในกรณีศาสนาพุทธของญี่ปุ่นนั้น หากจะถือว่าพระสงฆ์เป็น “อาชีพ” ก็ไม่ผิดค่ะ หากทำปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระสงฆ์ในวันนั้นๆ เสร็จแล้ว จะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นเสื้อยืดกางเกงยีนส์ แล้วนั่งชิลจิบเบียร์หน้าทีวีก็ทำได้ และยังรับเงินเดือนทุกๆเดือน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากพนักงานกินเงินเดือนแบบเราๆ เลยล่ะค่ะ

ในกรณีของพระสงฆ์ไทยนั้นก็อย่างที่เราทราบกันคือ ตราบใดที่ยังบวชเป็นพระอยู่ หน้าที่ของพระที่ต้องปฏิบัติก็จะไม่มีจบสิ้น ดังนั้นเรื่องความคิดที่จะเปลี่ยนจีวรเป็นชุดไปรเวทแล้วนั่งจิบเบียร์หลังเลิกงานย่อมไม่มีอยู่แล้วล่ะค่ะ และแน่นอนว่าพระสงฆ์ไทยไม่มีระบบเงินเดือนเหมือนกับพระสงฆ์ของญี่ปุ่น แต่แทนที่จะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินก็จะได้รับอาหาร ที่พักอาศัย และเครื่องนุ่งห่มแทน ซึ่งตามวินัยของพระสงฆ์ที่เข้มงวดมากๆ มีอยู่ข้อหนึ่งก็คือ ห้ามจับเงิน (ตามหลักแล้วที่รับเงินบริจาคมา หากนำไปใช้ในทางศาสนา ไม่นำไปใช้ส่วนตัวก็ถือว่าไม่ผิดค่ะ)

เรื่องแปลกใจของพระสงฆ์ญี่ปุ่น

เนื่องจากพระสงฆ์ของญี่ปุ่นมีระบบเงินเดือน การทำกิจของสงฆ์ก็เหมือนกับการทำงานที่ได้รับค่าจ้าง ดังนั้นในคืนวันปีใหม่ที่พระสงฆ์ต้องตีระฆังที่วัดเป็นจำนวน 108 ครั้ง (เพื่อขจัดสิ่งไม่ดีทั้ง 108 ประการ) ต้อนรับวันขึ้นปีใหม่นั้น ก็จำเป็นต้องอยู่จนดึกใช่ไหมล่ะคะ ในกรณีนั้นพระสงฆ์ก็จะได้รับเบี้ยเลี้ยงตอบแทนเหมือนกับ OT อีกต่างหากด้วย
(ข้อมูลจากหนังสือ Bouzumarumoukei no Karakuri)

การที่พระสงฆ์ได้ค่าตอบแทนในวันที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนดึกดื่นเนี่ย ไม่เคยทราบมาก่อนเลยล่ะค่ะ แบบนี้ก็แทบจะมองพระสงฆ์เป็นซาลารี่แมนแล้วล่ะ

ศาสนาพุทธที่มีการแบ่งแยกนิกายกัน จะว่าไปก็เหมือนกับศาสนาคริสต์เลยล่ะค่ะ ถ้าดูจากลักษณะการสร้างวัดแล้ววัดของไทยก็คงคล้ายกับโบสถ์ของคาทอลิกโดดเด่นและมีการเล่นสีสัน

ส่วนวัดของทางญี่ปุ่นจะคล้ายกับโบสถ์โปรเตสแตนต์ที่ให้อารมณ์เงียบขรึมค่ะ

อ่านกันมาถึงตรงนี้แล้วบางคนอาจจะสงสัยกันใช่ไหมคะว่า ทำไมพระสงฆ์ญี่ปุ่นจึงสามารถดื่มเหล้าเบียร์ได้? เหตุผลในก็คือ ศาสนาพุทธนิกายมหายานที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อนในประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นนั้น พระสงฆ์จะมีจิตใจที่แรงกล้าในการปฏิบัติตามศีลหรือข้อห้ามต่างๆ ที่เชื่อว่าสามารถปฏิบัติตามได้เป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว โดยเฉพาะพระสงฆ์ของญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีกฎห้ามดื่มสุรา ฉันเนื้อสัตว์ หรือห้ามแต่งงาน และหากทำบาปก็มีแนวคิดที่ว่าไม่ว่าจะเป็นพระหรือใครก็ตามจะต้องเจอกรรมตามสนองอยู่แล้วด้วย

ตามที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นหลักปฏิบัติโดยเน้นที่ความศรัทธาและความเชื่อจากภายในอย่างแท้จริง คล้ายกับคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เลยล่ะค่ะ เป็นยังไงบ้างคะ พระญี่ปุ่นกับพระไทยแตกต่างกันพอสมควรเลยใช่ไหมคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *