เหตุผล 5 ข้อ ที่คนรู้ภาษาญี่ปุ่นควรเรียนภาษาเกาหลี เพราะอะไรนั้นไปดูกันเลย
เพื่อน ๆ พี่น้องที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ มีใครเป็นติ่งเกาหลีบ้างสารภาพมาซะดี ๆ 555 ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่ากระแสเกาหลียังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะบูมมาหลายปีแล้วก็ตาม โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปอเมริกาที่ดูเหมือนว่าจะเปิดใจรับวัฒนธรรมเกาหลีผ่านดนตรีเคป็อป ซีรีส์ และภาพยนตร์มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
กระแสเกาหลีบูมทำให้หลาย ๆ คนอยากเรียนภาษาเกาหลีขึ้นมา แต่ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะคนท่ีเลือกเรียนภาษาอื่นเป็นภาษาที่สามไปแล้วก็คงไม่อยากเพิ่มภาระให้ตัวเองด้วยการเริ่มเรียนภาษาใหม่เร็ว ๆ นี้ แต่รู้หรือเปล่าว่าถ้าเพื่อน ๆ มีพื้นภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วละก็ การเรียนภาษาเกาหลีก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด! เรามาดูเหตุผล 5 ข้อที่คนรู้ภาษาญี่ปุ่นควรเรียนภาษาเกาหลีกันดีกว่า…
ภาษาญี่ปุ่นมีรูปแบบการเรียงประโยคที่ทำเอาหลายคนมึนตึ้บมาแล้ว นั่นคือ ประธาน + กรรม + กริยา ดังนั้นแทนที่จะเป็น “ฉัน กิน ข้าว” แบบภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ก็กลายเป็น “ฉัน ข้าว กิน” กว่าจะชินกับรูปประโยคแบบนี้ก็ล่อไปหลายเดือนเหมือนกัน
ด้วยความที่ภาษาเกาหลีเป็นภาษาที่เรียงประโยคแบบเดียวกับญี่ปุ่นเป๊ะ แถมมี “คำช่วย” คั่นอยู่ระหว่างกลางเหมือนภาษาญี่ปุ่นอีกต่างหาก ถ้าเพื่อน ๆ คุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่นจนแม่นการเรียงประโยคแบบนี้แล้ว การเรียนรู้ที่จะเรียงประโยคเป็นภาษาเกาหลีก็ไม่ใช่เรื่องวุ่นวายเลย
คำช่วย (助詞; jo-shi) ในภาษาญี่ปุ่นมีหน้าที่เชื่อมระหว่างประธาน กรรม และกริยา เป็นต้น ในประโยค ซึ่งในภาษาเกาหลีก็มีคำช่วย (조사; jo-sa) เหมือนภาษาญี่ปุ่นเลย เท่านั้นไม่พอ คำช่วยแต่ละตัวยังทำหน้าที่เหมือนกันมากจนแทบจะใช้แทนกันได้ทั้งหมด แม้แต่คำช่วย は (wa) กับ が (ga) ที่ทำเอาหลายคนกุมขมับ ในภาษาเกาหลีก็มีคำช่วย 은/는 (eun/nun) กับ 이/가 (i/ga) ที่มีหลักการใช้ใกล้เคียงกัน
แม้ว่าตัวอักษรญี่ปุ่นและเกาหลีจะไม่เหมือนกัน แต่ด้วยความที่ในอดีตทั้งสองประเทศต่างก็ได้รับอิทธิพลทางภาษามาจากประเทศจีนผ่านตัวอักษรจีน (漢字) ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “คันจิ” และเกาหลีเรียกว่า “ฮันจา” ทำให้มีคำศัพท์บางคำของญี่ปุ่นและเกาหลีที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน เช่น
ยีราฟ キリン (kirin) | 기린 (girin)
อาหาร 料理 (ryōri) | 요리 (yoli)
กระเป๋า カバン (kaban) | 가방 (gabang)
รูปภาพ 写真 (shashin) | 사진 (sajin)
อารมณ์, ความรู้สึก 気分 (kibun) | 기분 (kibun)
ครอบครัว 家族 (kazoku) | 가족 (kajok)
สัญญา 約束 (yakusoku) | 약속 (yaksok)
เครื่องซักผ้า 洗濯機 (sentakuki) | 세탁기 (setaggi)
เบสบอล 野球 (yakyū) | 야구 (yagu)
หนังสือพิมพ์ 新聞 (shinbun) | 신문 (shinmun)
และไม่ใช่แค่คำที่รับมาจากจีนเท่านั้น คำยืมจากภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ ก็มีหลายคำเลยที่ออกเสียงเหมือนหรือคล้ายกัน เช่น
งานพิเศษ アルバイト (arubaito) | 아르바이트 (areubaiteu)
ขนมปัง パン (pan) | 빵 (ppang)
เครื่องปรับอากาศ エアコン (eakon) | 에어컨 (eokon)
ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลีต่างก็เป็นภาษาที่แบ่งความสุภาพออกเป็นหลายระดับ หลัก ๆ คือมีภาษาสุภาพที่เอาไว้ใช้กับผู้อาวุโสกว่าหรือมีตำแหน่งสูงกว่า และมีภาษาทั่วไปที่เอาไว้ใช้พูดคุยกับคนสนิทหรือคนที่เด็กกว่า ความจริงแล้วการแบ่งระดับความสุภาพของภาษาแบบนี้พบเห็นได้ในหลายประเทศในเอเชียรวมถึงประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าภาษาสุภาพของญี่ปุ่นและเกาหลีที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนนั้นจะมีความใกล้เคียงกันมากพอสมควร
ยกตัวอย่างเช่น การผันกริยาเพื่อแสดงระดับความสุภาพ ในภาษาญี่ปุ่นรูปสุภาพมักจะลงท้ายคำกริยาด้วย -です(-desu) หรือ -ます(-masu) ส่วนในภาษาเกาหลีจะลงท้ายด้วย -요(-yo) / -ㅂ니다 (-pnida)
นอกจากนี้สองภาษายังมีคำต่อท้ายที่แสดงระดับความสุภาพ เช่น -さん(-san) / -님(-nim) สำหรับต่อท้ายชื่อคนเพื่อแสดงความสุภาพ คล้ายกับคำว่า “คุณ-” ในภาษาไทย และมีคำเรียกบุคคลเพื่อแสดงความเคารพ เช่น 先輩(senpai) และ 선배(seonbae) สำหรับเรียกรุ่นพี่ในสถาบันการศึกษา หรือคนที่ทำงานในที่ทำงานเดียวกันมาก่อน เป็นต้น
ด้วยความที่ในอดีตเกาหลีรับวัฒนธรรมหลายอย่างมาจากจีน โดยที่ญี่ปุ่นก็รับวัฒนธรรมเหล่านั้นจากเกาหลีมาอีกทอด หรือรับจากจีนโดยตรงก็มี ทำให้เราพอจะมองเห็นความคล้ายคลึงกันบางอย่างในวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศนี้ แม้ว่าในปัจจุบันปัจจัยหลาย ๆ ด้านจะส่งผลให้ญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันก็ตาม
ตัวอย่างวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันของญี่ปุ่นและเกาหลีก็เช่น วัฒนธรรมการโค้งทักทาย และวัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์ เป็นต้น นอกจากนี้คนทั้งสองประเทศยังมีพื้นฐานเป็นคนทำงานหนัก การเรียนทั้งสองภาษาจึงมีส่วนช่วยให้เพื่อน ๆ ซึบซับและเข้าใจวัฒนธรรมที่เหมือนและต่างกันของทั้งสองประเทศได้ง่ายขึ้น ยิ่งใครที่ตั้งใจว่าจะไปทำงานในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือทำงานที่ต้องเจอคนจากทั้งสองประเทศก็ยิ่งได้ประโยชน์ไปอีก ใครที่รู้ภาษาญี่ปุ่นหรือเกาหลีอยู่แล้ว หรือตั้งใจจะเลือกเรียนภาษาใดภาษาหนึ่ง การเรียนอีกภาษาหน่ึงควบคู่ไปด้วยเมื่อภาษาแรกเริ่มแข็งก็เป็นความคิดที่ไม่เลวเลยหละ