รู้จักกับไอคิโดศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น ที่ตัวละครในอนิเมะใช้ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ ไปดูกันเลย
เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่าในการ์ตูนเรื่อง Kimetsu no Yaiba หรือดาบพิฆาตอสูรนั้น ไม่ได้มีแค่ศิลปะการใช้ดาบของญี่ปุ่นอย่างเคนโด (剣道) สอดแทรกอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นอีกแขนงหนึ่งที่เรียกว่า “ไอคิโด” (合気道) แฝงอยู่ด้วย โดยตัวละครที่มีทักษะการต่อสู้นี้ก็คือ ยูชิโร อสูรหนุ่มผู้ติดตามทามาโยะ ที่คอยช่วยเหลือคามาโดะ ทันจิโร ตัวเอกของเรื่องและพวกพ้องนั่นเอง ซึ่งฉากที่ยูชิโรได้แสดงฝีมือทักษะไอคิโดก็คือฉากแรก ๆ ที่ตัวยูชิโรและทามาโยะได้เจอกับคามาโดะ ทันจิโร และน้องสาวในอนิเมะ แต่ในฉากนั้นยูชิโรไม่ได้ใช้ไอคิโดเพื่อต่อต้านอสูรร้ายที่ไหน แต่กลับใช้ฟัดกับคามาโดะ ทันจิโร ด้วยความหมั่นไส้นั่นเอง
นอกจากยูชิโรแล้ว ตัวละครที่โด่งดังเรื่องทักษะไอคิโดอีกคนก็คือ โทยามะ คาซุฮะ เพื่อนสาวคนสนิทของ ฮัตโตริ เฮจิ ในการ์ตูนยอดนิยมตลอดกาลอย่างเรื่องยอดนักสืบจิ๋วโคนัน หากมองเผิน ๆ แล้ว ฉากการต่อสู้ของโทยามะ คะซุฮะ ที่ใช้ไอคิโดกับฉากการต่อสู้ของ โมริ รัน ตัวละครเอกอีกตัวในเรื่องที่ใช้คาราเต้แล้ว อาจจะดูคล้ายคลึงกัน แต่ความจริงแล้ว หลักการคิดและท่าทางการฝึกฝนนั้นแตกต่างกันมาก วันนี้เราจะมาพารู้จักกับ “ไอคิโด” ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นอีกแขนงหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ไอคิโด เป็นศิลปะการต่อสู้ร่วมสมัยของญี่ปุ่นที่ยังมีประวัติศาสตร์ไม่ยาวนานนัก คิดค้นขึ้นโดยอุเอะชิบะ โมริเฮ (ค.ศ. 1883 – ค.ศ. 1969) ผู้บุกเบิกและก่อตั้งศิลปะการต่อสู้แขนงนี้ อุเอะชิบะ โมริเฮ เกิดที่จังหวัดวากายามะในแถบคันไซของญี่ปุ่น เมื่ออายุราว 28 ปี เขาอาสาสมัครไปเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ในจังหวัดฮอกไกโด ที่นั่นเองเขาได้พบกับอาจารย์ด้านศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ไดโทริว ไอคิจูจุตสึ (大東流合気柔術) เขาขอเข้าเป็นศิษย์และฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ดังกล่าวเรื่อยมา จน 15 ปีให้หลัง ในปี ค.ศ. 1926 เขาได้ก่อตั้งศิลปะการต่อสู้รูปแบบใหม่ในแบบของตัวเองและให้ชื่อเรียกว่า “ไอคิ โนะ มิชิ” (合気の道) ซึ่งก็คือ ไอคิโด ในปัจจุบัน
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าไอคิโดเป็นศิลปะการต่อสู้แบบไหน ลองดูวิดีโอการแสดงไอคิโดของอาจารย์ทะดะ ฮิโรชิ ศิษย์ที่ติดตามและเรียนรู้ไอคิโดจากอุเอะชิบะ โมริเฮ มาโดยตรงเพียงไม่กี่คนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันกัน
ไอคิโดเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ไม่ได้เปรียบเทียบความแข็งแรงหรืออ่อนแอกับคู่ต่อสู้ แต่เป็นการฝึกฝนทักษะทั้งทางร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป ขัดเกลาท่าทางการต่อสู้และการใช้ลมหายใจไปด้วยกัน หลักการคิดและท่าทางที่ใช้จึงไม่ใช่การปะทะกัน แต่เป็นการผสานลมหายใจและแรงของเราเข้ากับอีกฝ่าย ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คงจะเหมือนคนสองคนเต้นลีลาศด้วยกัน ถ้าฝ่ายชายก้าวเท้าขวามาข้างหน้า ฝ่ายหญิงก็จะก้าวเท้าซ้ายไปข้างหลังเพื่อให้ท่าทางผสานสอดคล้องกัน แต่ถ้าฝ่ายหญิงดันก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าแทนละก็ คงจะชนกันจนเละไม่เป็นท่า ไอคิโดก็เช่นกัน ต้องใช้การเคลื่อนไหวที่ผสานและสอดคล้องกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีการใช้แรงปะทะหรือต้านกัน ด้วยเหตุนี้ ไอคิโดจึงเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีแพ้ชนะ และไม่มีการแข่งขัน ผู้ฝึกไอคิโดจะได้เรียนรู้การเคารพซึ่งกันและกัน และการรวมจิตใจเข้าด้วยกันผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
การฝึกไอคิโดนั้น เราจะได้จับคู่กับคู่ฝึกที่มีทักษะใกล้เคียงกัน โดยมีอาจารย์หรือผู้ฝึกสอนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุก็สามารถเล่นได้อย่างปลอดภัย นอกจากจะได้เสียเหงื่อจากการขยับร่างกายแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนจิตใจและสมาธิอีกด้วย เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับการทำสมาธิแบบขยับตัวไปด้วย (Moving Zen) การฝึกฝนไอคิโดนั้น ไม่ได้จบเพียงแค่การฝึกในโรงฝึกเท่านั้น เราสามารถนำทักษะด้านการรับรู้จิตใจและความรู้สึกของผู้อื่น และวิธีการรับมือแบบผสมผสาน เลี่ยงการปะทะกันไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
หลังจากอ่านเรื่องราวของไอคิโดที่เล่ามาแล้ว หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้มุมมองใหม่ ๆ ต่อไอคิโด ที่ไม่ใช่แค่ทักษะการต่อสู้ที่ตัวละครในอนิเมะใช้เหวี่ยงหรือทุ่มคู่ต่อสู้เพื่อให้ได้ฉากเท่ ๆ เท่านั้น แต่ยังมีความลึกซึ้งเข้าไปถึงการฝึกฝนจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย หากเพื่อน ๆ คนไหนสนใจอยากจะลองสัมผัสความเป็นญี่ปุ่นจากศิลปะการต่อสู้นี้ดูบ้าง ก็สามารถไปลองเล่นกันได้ที่โรงฝึกภายใต้สมาคมไอคิโดประเทศไทย ซึ่งมีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศไทยเลยล่ะ