โอยาโกะด้ง ข้าวหน้าไก่กับไข่ เกิดขึ้นได้แต่ใดมา มีที่มาอย่างไรนั้นไปดูกันเลย

โอยาโกะด้งก็เป็นอาหารแสนอร่อยอีกอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น แต่เรารู้กันรึเปล่าครับว่า ความเป็นมาของ โอยาโกะด้งนั้นมีความเป็นมาอย่างไร ฉะนั้นเราจะไปทำความรู้จักกับเจ้าอาหารแสนอร่อยตัวนี้กัน

เมื่อพูดถึง “ดมบุริ” (ข้าวราดหน้าใส่ชาม) คนมักนึกถึง อุนาด้ง 鰻丼 (ข้าวหน้าปลาไหลย่าง) เท็นด้ง 天丼 (ข้าวหน้าเทมปุระ) และคัตสึด้ง カツ丼 ก่อนอย่างอื่น ซึ่งว่ากันว่า อุนาด้งนี่หละเกิดก่อนดมบุริทั้งปวง (คือช่วงศักราชบุนกะ 文化 ตรงกับช่วงปี พ.ศ.2347 ถึง พ.ศ. 2361 ราวช่วงรัชกาลที่ ๑ ของไทย) ต่อจากนั้นจึงเป็นเท็นด้ง ส่วนคัตสึด้งมีเรื่องเล่าหลายทฤษฎีแต่ว่าที่แพร่หลายที่สุดคือ ร้านซันโซอัน 三朝庵 ร้านโซบะเก่าแกแถว ม.วาเซดะ (ปัจจุบันร้านปิดกิจการแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2561) เป็นผู้คิดทำขึ้น โดยเอาเศษเหลือๆ ของหมูชุบเกล็ดขนมปังทอด (cutlets カツレツ) มาทำเป็นคัตสึด้ง (เป็นเมนูกำจัดของเหลือดีมาก)
ส่วนโอยะโกะด้งนั้น มีข้อเขียนที่กล่าวว่า พบว่ามีการใช้คำว่า “โอยะโกะด้ง” มาโฆษณา โดยร้าน เอโดะโค (江戸幸) ย่านโกเบโมโดริมาจิ (神戸元町) มาตั้งแต่ปีเมจิที่ 17 (พ.ศ. 2427) แล้ว

แต่ทฤษฎีที่กล่าวกันโดยทั่วไปนั้น กลับว่ากันว่า “โอยะโกะด้ง” เกิดขึ้นเมื่อปีเมจิที่ 20 (พ.ศ. 2430) โดยต้นคิดคือร้านอาหารเมนูไก่ “ทามาฮิเดะ” (玉ひで) ย่านนิฮอนบาชิ นิงเกียวโช ร้านนี้เป็นร้านเก่าแก่เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2303 อยู่มา 250 ปีแล้วจนถึงทุกวันนี้ตอนนั้นมีลูกค้าคนหนึ่ง เอาไข่ตอกใส่ “หม้อไฟไก่ชน” (軍鶏鍋) แล้วเรียกว่า “ต้มไก่กับไข่” (親子煮 โอยะโกะนิ=ต้มแม่ลูก) ของเจ้าของรุ่นที่ 5 ก็เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่า เห็นลูกค้าเอาไข่ใส่น้ำซุปที่เหลือในหม้อไฟไก่ แล้วเอามากินเป็นกับข้าวก็ได้ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเอาน้ำราดข้าวมันเสียเลย แต่เพราะทีแรกรู้สึกกระดากว่า อันร้านเราก็เป็นร้านเก่าแก่มีชื่อมานาน จะเสิร์ฟอาหารแบบ ข้าวราดน้ำซุป (ก้นหม้อ) ก็ดูกระไรอยู่ เลยทำเป็นแค่เมนูเดลิเวอรี่ไปเสีย
แต่ต่อมาไปๆ มาๆ กลายเป็นเมนูยอดนิยมในหมู่คนทำงานตลาดปลา ตอนหลังเลยกลายเป็นเมนูรับประทานที่ร้านตามคำเรียกร้อง ซึ่งกว่าจะเอามาเป็นเมนูขายในร้านได้ก็ปาเข้าไปปีโชวะที่ 54 (พ.ศ. 2522)
เมนูนี้ (ฉบับออริจินัล) อร่อยตรงที่เนื้อไก่นั้นดูดน้ำซุปก้นหม้อ ใส่ต้นหอมด้วย พอตอกไข่ใส่ ราดข้าว ข้าวดูดน้ำซุป ยิ่งอร่อย อารมณ์ประมาณเดียวกับกิวด้ง 牛丼 (ข้าวหน้าเนื้อวัว) ซึ่งกิวด้งเองนั้นสมัยก่อนคนเรียกว่า กิวนาเบะบุคคาเคะ 牛鍋ぶっかけ (ข้าวราดหน้าหม้อไฟเนื้อ) เป็นของฮิตในหมู่ชาวบ้านคนเอโดะอยู่แล้ว เพราะบางทียังเอาซุปมิโสะมาราดข้าวกิน แต่ต้องมาถึงยุคเมจิถึงจะมีการตอกไข่ใส่ลงไป (ในยุคเอโดะ ไข่เป็นอาหารชั้นสูง ชาวบ้านเอื่อมไม่ถึง ต้องมาถึงยุคเมจิแล้วจึงเป็นของที่ใครๆ ก็กินได้) กิวด้งเองนั้นก็เป็นของกินยอดฮิตมาเป็นสิบปีแล้วก่อนที่โยชิโนยะ 吉野家 จะมาขายกิวด้งแถวตลาดปลาที่นิฮอนบาชิ
ในยุคเอโดะ ไข่เป็นอาหารชั้นสูง แต่พอเข้ายุคเมจิ ใครๆ ก็กินไข่ได้ (ก็เลยมีปรากฏการณ์ตอกไข่ใส่หม้อไฟ) และมาถึงยุคนี้ อาหารจำพวกข้าวใส่ชาม (ดมบุริ) ก็เป็นที่นิยมในหมู่คนทำงานและนักศึกษาที่ชีวิตยุ่งๆ (เพราะกินหมดไว ชามเดียวอิ่ม) และยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีอาหารก้าวไกล เดี๋ยวนี้ไปถึงขั้นที่มี “โอยะโกะด้ง freeze dry” แล้ว ผลิตโดยบริษัท Amano Foods มาในรูปแบบผลิตภัณฑ์อัดเป็นก้อนแข็งสี่เหลื่ยม เติมน้ำร้อน แล้วจะคืนสภาพกลายเป็นหน้าไก่กับไข่ราดข้าวได้เลย