ความเป็นมาของขนมดังโงะและเรื่องที่ว่าทำไมต้องกลมๆ แล้วเสียบไม้เหมือนลูกชิ้น ความเป็นมาของขนมดังโงะและเรื่องที่ว่าทำไมต้องกลมๆ แล้วเสียบไม้เหมือนลูกชิ้น มีที่มาอย่างไรไปดูกันเลย
นิยามของขนมดังโงะคืออะไร? ขนมดังโงะหมายถึง ขนมที่ทำจากการเอาแป้งมาใส่น้ำหรือน้ำร้อนแล้วก็เอามานวดๆ คลึงๆ แล้วเอาไปนึ่งหรือลวกน้ำร้อนให้คงรูป สมัยโบราณธัญพืชชนิดไหนที่เอามาหุงกินเป็นเมล็ดไม่ได้เขาก็จะเอามาทำเป็นแป้งใส่น้ำแล้วนวด เอาไปปิ้งไปต้มกินเป็นอาหารหลักต่างข้าว เชื่อว่าคำว่าดังโงะ (団子) มีปรากฏมาตั้งแต่ยุคเฮอัน ในนิยาย “ชินซารุงาคุกิ” (新猿楽記) (แต่ยุคเฮอัน อ่านว่า ดันซุ คืออ่านเลียนเสียงจีน)
ต่อมาคนที่ถูกส่งไปเรียนเมืองถัง (เมืองจีน) กลับมาก็เอาขนมเซ่นไหว้ที่เรียกว่า “ดังกิ” (団喜 ซึ่งเป็นการคลี่คลายมาจาก “ขนมโมทกะ” ของอินเดียมาอีกที) พอคนญี่ปุ่นเห็นมันเป็นแป้งกลมๆ เลยได้ทีเรียกว่า 団子 ซึ่งพอเข้ายุคมุโรมาจิ คำว่า 団子 คนก็อ่านเป็น “ดังโงะ” (คืออ่านอย่างครึ่งจีนครึ่งญี่ปุ่น) แล้วก็เริ่มมีการเอาขนมดังกิมาเสียบไม้ ยุคมุโรมาจินี่แหละที่เกิดมีดังโงะเสียบไม้ “รสโชยุ” ที่เรียกว่า “มิตาราชิดังโงะ” ขึ้นมา
ขนมดังโงะแบบที่ไม่ได้เสียบไม้ จัดเป็นกองเอาไว้เซ่นไหว้เนี่ย ของญี่ปุ่นก็มีอย่าง ทสึคิมิดังโงะ (ดังโงะชมจันทร์ 月見団子) นะครับ
มิตาราชิดังโงะนั้น ว่ากันว่าเริ่มจากการเป็นขนมเซ่นไหว้หน้าศาลเจ้าในช่วงเทศกาลศาลเจ้าชิโมกาโมะ (下鴨神社) ในเกียวโต มีเรื่องเล่าขานว่าเมื่อจักรพรรดิโกไดโกะ (後醍醐天皇) ตักน้ำในสระมิตาไร (御手洗池) มีฟองอากาศลอยขึ้นมาอันหนึ่งก่อน แล้วจากนั้นก็เกิดฟองอากาศลอยขึ้นมาอีกสี่ฟอง ก็เลยทำขนมสมมติว่าเป็นฟองอากาศนั้น และก็ยังมีอีกเรื่องเล่าหนึ่งว่า มิตาราชิดังโงะนั้น เขาสมมติเป็นหัวและแขนขาคนเพื่อเอามาบวงสรวงเทพเจ้า ไหว้เจ้าเสร็จก็เอาใส่โชยุแล้วเอาไปจี่ไฟกิน จะได้ปัดเป่าเคราะห์
พอเข้ายุคเอโดะ ดังโงะเขาขายเสียบไม้ห้าลูกขายไม้ละ 5 เซ็น (銭) แต่พอมาปี พ.ศ. 2303 มีการออกธนบัตรใบละ 4 เซ็น เลยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายเสียใหม่ ขายเสียบไม้สี่ลูก ขายราคา 4 เซ็น ยุคเอโดะนี่เองที่เริ่มมีดังโงะรสหวาน ที่ชาวบ้านในเมืองชอบกินเป็นขนมกับน้ำชา แต่ชาวนาตามบ้านนอกนั้นยังกินดังโงะเป็น “อาหารต่างข้าว” ยามไม่มีข้าวกินอยู่ เมื่อดูตรงนี้แล้วจะรู้สึกว่าดังโงะนั้นเป็นอะไรที่ดูก้ำกึ่งระหว่างอาหารกับขนมนะครับ
การกินดังโงะเป็นขนมนั้น สมัยนี้ก็พลิกแพลงราดถั่วแดงกวนบ้าง โรยผงคินาโกะบ้าง ราดซอสงาดำน้ำตาลบ้าง ซึ่งทำให้เห็นว่า ของที่คนสมัยโบราณกินเป็นอาหาร หรือจากที่เคยเป็นขนมเซ่นไหว้ คนสมัยหลังมาคลี่คลาย กลายเป็นขนมกินเล่นไปเสียแล้ว