ความหนักใจในวันรวมญาติของคนญี่ปุ่น

ความหนักใจในวันรวมญาติของคนญี่ปุ่น เพราะอะไรนั้นไปดูกันเลย

เมื่อถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ หลาย ๆ คนก็คงจะได้พบปะสังสรรค์กับญาติพี่น้องกันอย่างสนุกสนาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง บางคนก็อาจจะมีความรู้สึกเบื่อหรือไม่ชอบใช่ไหมล่ะคะ คนญี่ปุ่นเองก็เป็นเช่นกันค่ะ เมื่อถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเหนื่อยหรือหนักใจกับการที่ต้องเตรียมกับข้าวกับปลาหรือต้องคอยเก็บกวาดทุกอย่าง เราลองไปดูผลสำรวจจากเว็บไซต์ Sirabee กันค่ะ

จากการสำรวจหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นในช่วงอายุ 10 – 60 ปีจำนวน 1,798 คน ในหัวข้อ “รู้สึกหนักใจหรือไม่เมื่อต้องพบปะญาติ ๆ ในช่วงปีใหม่” ซึ่งมีจำนวนถึง 55.8% ที่ตอบว่ารู้สึกหนักใจ

ในจำนวนเกือบ 60% นี้แบ่งเป็นผู้ชาย 49.8% และผู้หญิง 61.1% จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงเสียมากกว่า

เมื่อแบ่งตามช่วงอายุ พบว่า

ช่วงอายุที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือผู้หญิงในวัย 40 ปี 70.1% ตามด้วยผู้หญิงในวัย 50 ปี 67.1% สังเกตได้ว่าสัดส่วนของผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป ในส่วนของผู้ชายนั้นจะมีสัดส่วนสูงที่สุดในวัย 30 ปี 58.2% และวัย 40 ปี 58.7%

การที่บรรดาญาติ ๆ มาพบปะสังสรรค์กันที่บ้านนั้น แน่นอนว่าที่บ้านก็จะต้องวุ่นวายกับการจัดเตรียมอาหารรวมถึงการเก็บกวาดล้างจานชามหลังจากทานเสร็จ อีกทั้ง ในสังคมญี่ปุ่นที่มีการแบ่งแยกหน้าที่ตามเพศอย่างชัดเจน ทำให้บางบ้านก็ยังคงยึดถือว่างานบ้านเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกเหนื่อยกับการที่ต้องจัดการงานบ้านเหล่านี้ด้วยตัวเองคนเดียว

เมื่อลองแบ่งตามลักษณะอาชีพ พบว่า

อาชีพที่รู้สึกหนักใจที่สุดเมื่อต้องมาพบญาติ ๆ ก็คืองานพาร์ทไทม์ 66.0% รองลงมาคือแม่บ้าน 64.2%

ในการรวมญาติวันปีใหม่ เป็นธรรมดาที่ญาติพี่น้องจะต้องถามความเป็นไปในชีวิตของเราไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องครอบครัว ถึงแม้ว่าจะเป็นการถามด้วยความห่วงใย แต่สำหรับคนถูกถามแล้ว อาจจะมองว่าเหมือนถูกรุกล้ำเรื่องส่วนตัวหรือยุ่มย่ามมากเกินไป ตรงนี้คิดว่าคนไทยก็เหมือนกันนะคะ เจอกันทีก็ต้องถามสารทุกข์สุขดิบกันบ้าง แต่ถามเยอะมากก็อาจจะรำคาญได้เช่นกัน ใช่มั้ยล่ะคะ

งานพาร์ทไทม์จะให้ภาพลักษณ์ว่าเป็นงานที่ไม่มั่นคง ถ้าหากบอกญาติ ๆ ไปว่าทำแค่งานพาร์ทไทม์ ก็อาจจะโดนพูดนู่นพูดนี่ใส่ก็เป็นได้ จึงทำให้คนที่ทำงานพาร์ทไทม์รู้สึกหนักใจเวลาที่ต้องเจอญาติ ๆ จะเห็นได้ว่าปัจจัยเรื่องอาชีพก็เป็นส่วนสำคัญค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *